การออกระดมเงินและการจำหน่ายหุ้นกู้
หุ้นกู้คือตราสารแสดงพันธะหนี้สินระยะยาวที่เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการต้องการเงินทุนเป็นจำนวนมากเกินกว่าจะกู้ยืมได้จากเจ้าหนี้เพียงรายเดียว ดังนั้นกิจการจึงต้องทำการกู้ยืมจากเจ้าหนี้มากกว่า 1 ราย จึงได้มีการแบ่งจำนวนเงินออกเป็นส่วนๆ และกำหนดให้เป็นมูลค่าของหุ้นกู้ โดยจะออกให้กับผู้ถือซึ่งอาจจะระบุชื่อผู้ถือลงในตราสารหรือไม่ก็ได้
ตามปกติในตราสารจะแสดงราคาตามมูลค่าอันเป็นจำนวนเงินต้นที่จะต้องจ่ายชำระ ณวันถึงกำหนด อัตราดอกเบี้ยและกำหนดเวลาการจ่ายดอกเบี้ย ในการจำแนกประเภทหุ้นกู้จะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ในการออกหุ้นกู้ซึ่งอาจจำแนกตามหลักประกันหุ้นกู้ในการออกจำหน่ายหุ้นกู้ ซึ่งหุ้นกู้ก็จะมีแบบหุ้นกู้ชนิดมีหลักประกันและหุ้นกู้ชนิดที่ไม่มีหลักประกัน
และจำแนกตามกำหนดระยะเวลาในการไถ่ถอนหุ้นกู้ ซึ่งก็จะแยกย่อยออกเป็น หุ้นกู้ไถ่ถอนปกติ หุ้นกู้ไถ่ถอนก่อนครบกำหนด หุ้นกู้ไถ่ถอนเป็นงวด และหุ้นกู้แปลงสภาพ การออกหุ้นกู้มีคำที่เกี่ยวข้องซึ่งควรทราบถึงความหมายดังต่อไปนี้
- ราคาตามมูลค่าหรือราคาที่ตราไว้ (Par Value, Face Value, Principal Amount Of Maturity Value) คือมูลค่าของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ในใบหุ้นกู้ เป็นจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับคืนเมื่อหุ้นกู้สูงกว่าราคาตามมูลค่าของหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน
- ส่วนเกินมูลค่าหุ้นกู้ (Bond Premium) คือส่วนต่างของราคาออกจำหน่ายหุ้นกู้สูงกว่าราคาตามมูลค่าของหุ้นกู้ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้มีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด ทำให้กิจการที่ออกจำหน่ายหุ้นกู้สามารถขายหุ้นกู้ได้ในราคาสูงกว่ามูลค่า
- ส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นกู้ (Bond Discount) คือส่วนต่างของราคาออกจำหน่ายหุ้นกู้ต่ำกว่าราคาตามมูลค่าของหุ้นกู้ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้มีอัตราต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด ทำให้กิจการที่ออกจำหน่ายหุ้นกู้ไม่สามารถจำหน่ายหุ้นกู้ได้ในราคาตามมูลค่า จำเป็นต้องจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า
การคำนวณราคาของหุ้นกู้ที่ออกจำหน่าย
ในการออกจำหน่ายหุ้นกู้กิจการอาจจำหน่ายได้ในราคาที่เท่กับราคาตามมูลค่า หรือสูงกว่าหรือต่ำกว่ามูลค่าของหุ้นกู้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้เปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในการคำนวณราคาจำหน่ายหุ้นกู้จะพิจารณาจากปัจจัย 2 อย่างรวมกันคือ
- มูลค่าปัจจุบันของเงินที่ต้องจ่ายเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน
- มูลค่าปัจจุบันของดอกเบี้ยที่จ่ายเป็นงวดตลอดอายุของหุ้นกู้
การบันทึกบัญชีหุ้นกู้ที่ออกจำหน่าย
ในการบันทึกบัญชีหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายจะแบ่งหัวข้อศึกษาเป็น 2 หัวข้อดังนี้
- การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับการออกจำหน่ายหุ้นกู้โดยรับชำระเป็นเงินสดทั้งจำนวนในคราวเดียว ในการบันทึกบัญชีจะแยกเป็น 2 กรณีคือ
- ออกจำหน่ายหุ้นกู้ในวันที่ตรงกับวันจ่ายดอกเบี้ย
- ออกจำหน่ายหุ้นกู้ในวันที่ไม่ตรงกับวันจ่ายดอกเบี้ย
ในการออกจำหน่ายหุ้นกู้ให้บันทึกบัญชีหุ้นกู้ด้วยจำนวนเงินเท่ากับมูลค่า ดังนั้นถ้าจำหน่ายหุ้นกู้ได้ในราคาสูงกว่ามูลค่าให้บันทึกจำนวนเงินส่วนต่างในบัญชีส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นกู้ ในการจ่ายดอกเบี้ยของหุ้นกู้นั้นจะจ่ายตามวันที่กำหนดไว้ในใบหุ้น ดังนั้นถ้ามีการออกจำหน่ายหุ้นกู้ในวันที่ไม่ตรงกับวันจ่ายดอกเบี้ย ผู้ซื้อหุ้นกู้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเป็นค่าดอกเบี้ยค้างนับตั้งแต่วันที่จ่ายดอกเบี้ย ครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่จำหน่ายหุ้นกู้ซึ่งเป็นการจ่ายค่าดอกเบี้ยล่วงหน้าให้กับผู้ขาย โดยผู้ซื้อหุ้นกู้จะได้รับดอกเบี้ยส่วนที่จ่ายไปล่วงหน้าคืนเมื่อถึงงวดของดอกเบี้ย ทั้งนี้เพราะจะได้รับดอกเบี้ยหุ้นกู้เต็มจำนวนแม้จะถือหุ้นกู้ไม่ครบตามระยะเวลาของงวดดอกเบี้ย สำหรับค่าดอกเบี้ยค้างให้ผู้ออกหุ้นกู้บันทึกไว้ในบัญชีดอกเบี้ยค้างจ่ายหรือดอกเบี้ยจ่ายก็ได้
- การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับการออกจำหน่ายหุ้นกู้ในลักษณะอื่นๆ ในการออกจำหน่ายหุ้นกู้นั้นจะแยกเป็น 2 กรณีดังนี้
ออกจำหน่ายหุ้นกู้เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินทรัพย์
ออกจำหน่ายหุ้นกู้โดยมิได้จำหน่ายทั้งหมดในคราวเดียว
– วิธีบันทึกบัญชีเฉพาะหุ้นกู้ที่จำหน่าย สำหรับหุ้นกู้ที่จดทะเบียนจะบันทึกความทรงจำ
– วิธีบัญชีโดยเปิดบัญชีหุ้นกู้จดทะเบียนกับบัญชีหุ้นกู้ยังมิได้ออกจำหน่าย เมื่อนำหุ้นกู้ออกจำหน่ายจะบันทึกลดยอดบัญชีหุ้นกู้ยังมิได้ออกจำหน่าย ดังนั้นจำนวนหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายแล้วจะทราบได้จากผลต่างของบัญชีหุ้นกู้จดทะเบียนกับบัญชีหุ้นกู้ยังมิได้ออกจำหน่าย
ค่าใช้จ่ายในการออกจำหน่ายหุ้นกู้
ในการออกจำหน่ายหุ้นกู้จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย ค่าธรรมเนียมในการจัดจำหน่าย ค่าธรรมเนียมทางบัญชี ค่าพิมพ์ใบหุ้น ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้บันทึกไว้ในบัญชีค่าใช้จ่ายในการออกจำหน่ายหุ้นกู้รอตัดบัญชี และดำเนินการตัดบัญชีหรือตัดจำหน่ายด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกปีตลอดอายุของหุ้นกู้
ปริญญาตรี บัญชี นักบัญชี ที่ชอบทำบทความ รักการทำบทความมากว่า 20 ปี