ปันส่วนต้นทุนร่วม

รับทำบัญชี.COM | วิธีหลักเกณฑ์การปันส่วนต้นทุนร่วม?

Click to rate this post!
[Total: 121 Average: 5]

หลักเกณฑ์ในการปันส่วนต้นทุนร่วม

หลักเกณฑ์ในการปันส่วนต้นทุนร่วม

++++ หลักเกณฑ์ในการปันส่วนต้นทุนร่วมที่นิยมใช้โดยทั่วไปมี 4 วิธี คือ ++++
1. การปันส่วนโดยใช้จำนวนหน่วยผลิต (Physical Measures)
เป็นการปันส่วนโดยใช้จำนวนหน่วยที่ผลิตได้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ เป็นฐานหรือเป็นเกณฑ์ในการแบ่งต้นทุน การปันส่วนวิธีนี้มักใช้ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ร่วมชนิดต่าง ๆ ที่ได้จากกระบวนการผลิตเดียวกันนั้น สามารถนับ วัด ชั่ง หรือตวง เป็นจำนวนหน่วยได้ เช่น ลิตร แกลลอน ตัน กิโลกรัม เป็นต้น
2. การปันส่วนโดยใช้มูลค่าขาย หรือราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ (Sales Value)
เป็นการปันส่วนต้นทุนร่วมโดยใช้อัตราส่วนของมูลค่าขายหรือราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ร่วม แต่ละชนิด ณ จุดแยก ซึ่งการแบ่งต้นทุนร่วมตามวิธีนี้ มีเหตุผล 2 ประการคือ
1) มูลค่าขาย หรือราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ร่วมแต่ละชนิดที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งต้นทุนร่วมนี้ สามารถทราบได้ค่อนข้างแน่นอนจึงทำให้การจัดสรรต้นทุนร่วมมีความ เที่ยงธรรมมากขึ้น
2) ผลิตภัณฑ์ร่วมที่มีมูลค่าขายสูง ควรจะได้รับการแบ่งสรรต้นทุนร่วมในจำนวนที่สูงด้วย ซึ่งทำให้การปันส่วนต้นทุนร่วมมีความเที่ยงธรรมมากกว่าที่จะใช้เกณฑ์จำนวนหน่วยของผลผลิตเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้ เพราะผลิตภัณฑ์ร่วมบางชนิดอาจมีจำนวนน้อย แต่สามารถขายได้มูลค่าสูง
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตสินค้าบางชนิดเมื่อผลิตถึงจุดแยกตัวแล้ว ผลิตภัณฑ์ร่วมบางชนิดก็สามารถจำหน่าย หรือทราบมูลค่าขายได้ทันที แต่ในบางกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ร่วมบางชนิดเมื่อผ่านจุดแยกตัวไปแล้ว ก็ยังไม่สามารถจำหน่าย หรือทราบราคาขายได้ทันที เนื่องจากจะต้องมีการนำไปผลิตเพิ่มอีก จึงจะสามารถจำหน่ายได้ ในกรณีนี้ จะต้องมีการประมาณการมูลค่าขาย ณ จุดแยกตัว
3. การปันส่วนโดยใช้ต้นทุนต่อหน่วยถัวเฉลี่ย (Average Unit cost)
ในการปันส่วนต้นทุนร่วมให้กับผลิตภัณฑ์ โดยใช้ต้นทุนต่อหน่วยถัวเฉลี่ยนั้น มักนิยมใช้กับผลิตภัณฑ์ร่วมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม จะเท่ากันทุกหน่วย เช่น กระบวนการผลิตหนึ่งจะได้รับผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด คือ ผลิตภัณฑ์ ก ข และ ค หากใช้การปันส่วนโดยวิธีนี้ ต้นทุนต่อหน่วยของ ก ข และ ค ก็จะเท่ากันหมด เป็นต้น หากกิจการเลือกใช้วิธีการปันส่วนในลักษณะนี้ กิจการควรตั้งราคาขายของผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดให้ใกล้เคียงกัน เพราะต้นทุนต่อหน่วยเท่ากัน อีกทั้งผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิด ต้องมีหน่วยวัด (ลิตร กิโลกรม เมตร) เดียวกัน จึงจะเหมาะสมและได้ข้อมูลต้นทุนที่ใกล้เคียงความเป็นจริง เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้งาน
4. การปันส่วนโดยใช้การถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average cost)
การปันส่วนต้นทุนร่วมโดยใช้การถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักนี้ จะช่วยกำจัดข้อบกพร่องของ การปันส่วนต้นทุนร่วมโดยใช้ต้นทุนต่อหน่วยถัวเฉลี่ย(วิธีที่ 3) ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ร่วมแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันมากในหลายๆ ด้าน เช่น มีขนาดของผลิตภัณฑ์เล็กใหญ่ต่างกัน เวลา และความยากง่ายในการผลิตต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึง การใช้ปริมาณวัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง หรือค่าใช้จ่ายการผลิตที่แตกต่างกันไปด้วย กรณีนี้ การปันส่วนต้นทุนร่วมโดยใช้การถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก จะให้ความเป็นธรรมได้มากกว่า

 
หลักเกณฑ์ในการปันส่วนต้นทุนร่วม
หลักเกณฑ์ในการปันส่วนต้นทุนร่วม